สาระบทความ
ลวงเหนือ...ฐานความรู้จากงานวิจัย บันไดสู่การเป็นหม...

บ้านลวงเหนือ หมู่ที่ 4 และ หมู่ที่ 5 ตำบลลวงเหนือ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ เดิมเป็นหมู่บ้านเดียวกัน ซึ่งในภายหลังได้มีการแบ่งแยกเขตการปกครองออกเป็นสองหมู่บ้าน ณ ที่แห่งนี้ เป็นถิ่นอาศัย...
อ่านต่อลวงเหนือ...ฐานความรู้จากงานวิจัย บันไดสู่การเป็นหมู่บ้านต้นแบบด้านการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม
บ้านลวงเหนือ หมู่ที่ 4 และ หมู่ที่ 5 ตำบลลวงเหนือ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ เดิมเป็นหมู่บ้านเดียวกัน ซึ่งในภายหลังได้มีการแบ่งแยกเขตการปกครองออกเป็นสองหมู่บ้าน ณ ที่แห่งนี้ เป็นถิ่นอาศัยของชาวไทลื้อ ที่อพยพมาจาก เขตสิบสองปันนา (สาธารณรัฐประชาชนจีนในปัจจุบัน) ซึ่งบรรพบุรุษได้อพยพย้ายถิ่นฐานมายังเมืองเชียงใหม่ เพื่อหลบลี้หนีภัยสงคราม โดยมาตั้งหลักปักฐาน ณ บริเวณบ้านลวงเหนือ เมื่อวันที่ 3 เมษายน พ.ศ.1932 ตามจารึกที่ปรากฏในฐานเสื้อบ้านซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งการสร้างหลักปักฐานของชุมชนไทลื้อที่อพยพมากลุ่มนี้ บ้านลวงเหนือตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ ประมาณ 25 กิโลเมตร ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวไทเชื้อสายไทลื้อ ที่มีลักษณะทางวัฒนธรรมคล้ายคลึงกับชาวไทยล้านนา แต่มีอัตลักษณ์ที่แสดงออกถึงความเป็นชาวไทลื้อที่ชัดเจนคือ ภาษา การแต่งกาย อาหารการกิน เป็นต้น นอกจากจะมีความน่าสนใจทางวัฒนธรรมที่โดดเด่นแล้ว บ้านลวงเหนือยังพรั่งพร้อมด้วย องค์ความรู้ภูมิปัญญาของคนในชุมชน ที่เป็นอาชีพของคนในชุมชนอีกด้วย เช่น การแกะสลักตุ๊กตาไม้ การทำผลิตภัณฑ์กระดาษสา การทำข้าวควบข้าวแคบ(อาหารพื้นบ้านชาวไทลื้อ) การทอผ้าไทลื้อ เป็นต้น
ในปี พ.ศ. 2556 บ้านลวงเหนือร่วมกับเทศบาลตำบลลวงเหนือ ได้รับอนุมัติโครงการวิจัย “ แนวทางการจัดการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม(ไทลื้อ)โดยการมีส่วนร่วมของชุมชนบ้านลวงเหนือ ตำบลลวงเหนือ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ ” รหัสโครงการ RDG 56N0012 ซึ่งดำเนินการโดย นางสาวเกษฎาวัลย์ ตันริยงค์ และ นางพรรษา บัวมะลิ เป็นหัวหน้าโครงการวิจัยร่วมกับทีมวิจัยของชุมชนและคณะที่ปรึกษา โดยมีสถาบันการท่องเที่ยวโดยชุมชน ทำหน้าที่สนับสนุนกระบวนการวิจัย ในการดำเนินงานของโครงการวิจัยระยะที่ 1 ทีมวิจัยได้มีการสืบค้นและจัดเก็บข้อมูลชุมชน ในด้านต่างๆได้แก่ การจัดทำแผนที่ชุมชน เพื่อบอกถึงสถานที่สำคัญของชุมชน แหล่งเรียนรู้ ภูมิปัญญาในชุมชน การจัดเก็บข้อมูลวัฒนธรรมประเพณีของชุมชนตลอดจนความเชื่อต่างๆ การจัดเก็บข้อมูลด้านการเกษตรของชุมชน การรวบรวมองค์ความรู้ด้านอาหารท้องถิ่นและขนมพื้นบ้าน การสืบค้นและรวบรวมข้อมูลประวัติศาสตร์ชุมชน ซึ่งการดำเนินงานเพื่อศึกษาข้อมูลในด้านต่างๆที่กล่าวมานั้น ไม่ได้มีเป้าหมายเพียงแค่ให้ได้ข้อมูลเพื่อตอบคำถามของการวิจัยเท่านั้น แต่ได้ใช้กระบวนการในการเก็บข้อมูล สร้างการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน และความตระหนักต่อองค์ความรู้ภูมิปัญญาของท้องถิ่น ที่สุ่มเสี่ยงต่อการถูกละเลยสูญหายไป หากไม่มีการศึกษาและรวมรวมเพื่อจัดเก็บเอาไว้อย่างเป็นระบบ โครงการวิจัยนี้นอกจากจะสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้กับทีมวิจัยและคนในชุมชนแล้ว ยังเป็นงานที่สร้างกระบวนการเรียนรู้ให้กับเจ้าที่และคณะผู้บริหารของเทศบาลตำบลลวงเหนือ ที่เห็นคุณค่าและความสำคัญของการใช้งานวิจัยนำการพัฒนาและให้ความสำคัญต่อการพัฒนาคน ที่จะเป็นรากฐานสำคัญต่อการพัฒนาที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล จุดแข็งที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของโครงการวิจัยฯ คือการมีที่ปรึกษาที่ช่วยส่งเสริมให้การทำงานประสบความสำเร็จและนำมาซึ่งโอกาสต่างๆ เช่น การมีที่ปรึกษาโครงการวิจัย เป็นผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านลวงเหนือที่เชื่อต่อการทำงานกับกิจกรรมของนักเรียน การมีที่ปรึกษาเป็นผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานเชียงใหม่ ที่ให้โอกาสชุมชนได้เรียนรู้และเข้าใจเรื่องราวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมากขึ้น เป็นต้น ด้วยศักยภาพและความพร้อมในด้านต่างๆเหล่านี้ของโครงการวิจัยและชุมชน จึงทำให้หน่วยงานต่างๆเล็งเห็นความสำคัญของชุมชนบ้านลวงเหนือมากยิ่งขึ้น
ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2556 กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 ซึ่งประกอบด้วย จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดแม่ฮ่องสอน จังหวัดลำปาง และจังหวัดลำพูนได้จัดโครงการค้นหาหมู่บ้านต้นแบบ หมู่บ้านวัฒนธรรมล้านนาเพื่อการท่องเที่ยว ตามแผนปฏิบัติการในประเด็นยุทธศาสตร์สร้างความโดดเด่นของสินค้าชุมชน และการท่องเที่ยวบนพื้นฐานของเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ ส่งเสริมให้ชุมชนสืบทอดวิถีชีวิตวัฒนธรรมอันดีงาม ที่เป็นเอกลักษณ์สร้างแรงดึงดูดในการท่องเที่ยว ประจำปีงบประมาณ 2556 โดยความรับผิดชอบของสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งบ้านลวงเหนือได้ส่งโครงการเพื่อเสนอต่อคณะกรรมการ โดยใช้ฐานข้อมูลจากงานวิจัย เป็นต้นทุนที่สำคัญ จนได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมการให้เป็นหมู่บ้านต้นแบบของจังหวัดเชียงใหม่ โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนเพื่อพัฒนาให้เป็นหมู่บ้านวัฒนธรรมล้านนาเพื่อการท่องเที่ยวจำนวน 740,000 บาท ซึ่งงบประมาณดังกล่าว ได้ใช้ในการฝึกอบรมพัฒนาศักยภาพและเตรียมความพร้อมของคนในชุมชนด้านการท่องเที่ยว กิจกรรมศึกษาดูงาน การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว การจัดทำศูนย์ข้อมูลและป้ายสื่อความหมายซึ่งใช้ฐานข้อมูลจากงานวิจัยของชุมชน รวมทั้งการส่งเสริมกลุ่มอาชีพและสนับสนุนบ้านพักโฮมสเตย์ และเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2556 นายวิเชียร พุฒิวิญญู ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการและคณะสื่อมวลชน ได้เดินทางมาเปิดหมู่บ้านวัฒนธรรมล้านนาเพื่อการท่องเที่ยว ณ บ้านลวงเหนือ จึงทำให้บ้านลวงเหนือเป็นที่รู้จักต่อสาธารณะในความเป็นหมู่บ้านที่รักษาอัตลักษณ์วัฒนธรรมไทลื้อ และมีการจัดการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอย่างสร้างสรรค์
บ้านหัวทุ่ง...ความสุกสกาวจากข้างใน...

ที่มา : COMPASS Magazine ตุลาคม 2556 ด้วยความสูงเป็นอันดับสามของภูเขาในประเทศ และหากเปรียบเทียบกันเพียงภูเขาหินปูน ด้วยความสูง 2,225 เมตรเหนือระดับนน้ำทะเล นับได้ว่าดอยหลวงเชียงดาวเป็นภูเขาหินปูนที่ส...
อ่านต่อบ้านหัวทุ่ง...ความสุกสกาวจากข้างใน
ที่มา : COMPASS Magazine ตุลาคม 2556
ด้วยความสูงเป็นอันดับสามของภูเขาในประเทศ และหากเปรียบเทียบกันเพียงภูเขาหินปูน ด้วยความสูง 2,225 เมตรเหนือระดับนน้ำทะเล นับได้ว่าดอยหลวงเชียงดาวเป็นภูเขาหินปูนที่สูงที่สุดในประเทศ ทุกเดือนพฤศจิกายน – มีนาคม ของทุกปี นักท่องเที่ยวผู้นิยมธรรมชาติทั่วสารทิศจะเดินทางมาที่นี่เพื่อปีนเขาสำรวจธรรมชาติที่งดงามและอุดมสมบูรณ์เป็นอย่างมาก
ดอยหลวงเชียงดาว เป็นภูเขาหินปูนล้วนซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาถนนธงชัยเป็นภูเขาหินปูนที่เกิดขึ้นในยุคเพอร์เมียน มีอายุระหว่าง 230-250 ล้านปี สันนิษฐานว่าพื้นที่ในบริเวณนี้ในอดีตเคยเป็นท้องทะเลมาก่อนที่การ ตกตะกอนทับถมของซากสิ่งมีชีวิต เช่น ปะการังและหอย เป็นภูเขาที่ไม่มีแหล่งเก็บน้ำ ไม่มีแหล่งนน้ำธรรมชาติ แต่ที่นี่มีความพิเศษคือมีพรรณไม้แบบที่เรียกว่า ‘กึ่งอัลไพน์’ แห่งเดียวในประเทศ คือพวกพุ่มไม้เตี้ย และไม้ล้มลุก คล้ายพืชแบบแถบหิมาลัยแต่พัฒนาตนเองเป็นพืชเฉพาะถิ่น จึงมีดอกไม้สวยๆมากมายที่เราพบได้เฉพาะที่นี่เท่านั้น และพรรณไม้บางสายพันธุ์มีที่ดอยหลวงเชียงดาว ที่เดียว
ไม่เฉพาะความอุดมสมบูรณ์ของพันธุ์พืช ลำพังแค่การทอดมองทิวทัศน์ทั่วขุนเขา โดยเฉพาะการเดินไปจนถึงยอดและมองลงมา คุณก็จะพบกับความมหัศจรรย์ของทิวทัศน์สุดลูกหูลูกตา หมู่บ้านรอบเชิงเขาที่เกาะกลุ่มกับป่าไม้อย่างสอดคล้องกลมกลืน
ทั้งนี้หนึ่งในหมู่บ้านที่เพิ่งเกิดใหม่ได้ไม่นานตรงตีนดอยหลวงที่แม้จะไม่อลังการเสมือนบนยอดดอย หากแต่ความเรียบง่ายของชุมชนและความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติก็เป็นเรื่องที่น่าเสียดายหากจะมองข้าม เรากำลังพูดถึงบ้านหัวทุ่ง หมู่บ้านเล็กๆ ใกล้ๆ กับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยหลวงเชียงดาว
มีเรื่องประหลาดเล็กๆ ในพื้นที่ของบ้านหัวทุ่ง ไม่ไกลจากบ้านทุ่งละครของตำบลเชียงดาว ท่ามกลางสภาพภูมิศาสตร์ของพื้นที่ที่เป็นเขาหินปูนไม่สามารถกักเก็บน้ำได้ กลับปรากฏมีน้ำใสไหลทะลักออกจากโตรกผาและซอกรูของตีนดอยนาง ซึ่งเป็นอีกหนึ่งดอยร่วมพื้นที่กับดอยหลวงเชียงดาว ชาวบ้านเรียกพื้นที่อันน่าอัศจรรย์ตรงนั้นว่า 'น้ำออกฮู'
อย่างไรก็ดี แม้จะมีความสำคัญอย่างยิ่งยวด แต่กลับไม่ค่อยเป็นที่ทราบกันนักว่า พื้นที่บริเวณดอยหลวงและดอยนางนั้นเป็นตัวรองรับจากต้นน้ำหลักบนดอยหลวง พื้นที่ดังกล่าวจะซับน้ำอุ้มไว้ แล้วแบ่งสรรปันส่วนไหลรินลงมาให้ทั้ง 5 ลุ่มน้ำเบื้องล่าง ได้แก่ แม่กึ้ด แม่ลุ แม่ก๊ะ แม่นะ และแม่แมะ ซึ่งสามารถหล่อเลี้ยงหมู่บ้านและผืนป่าในบริเวณนั้นกว้างขวางออกไปกว่า 6,000 ไร่ อย่างพอเพียง
แน่นอน ธรรมชาติที่ยิ่งใหญ่มักถูกผูกติดด้วยเรื่องเล่าเหนือธรรมชาติของพื้นที่ เจ้าหลวงคำแดงจึงเป็นตำนานอารักษ์คู่ดอยหลวงเชียงดาว ในขณะที่บนดอยนางก็มีเจ้าแม่นางคำเขียวปกปักษ์รักษา และนั่นเป็นที่มาของความศรัทธาและพิธีกรรมเลี้ยงผีขุนน้ำในเดือนเก้าเป็งของทุกปี (ราวเดือนมิถุนายน) ส่วนประโยชน์ทางอ้อมของพิธีกรรมก็ปรากฏผ่านความร่วมมือร่วมใจของชาวบ้านในพื้นที่ทั้งจากชาวบ้านหัวทุ่ง ชาวบ้านทุ่งละครและอื่นๆ ในการร่วมกันจัดกิจกรรมตอบแทนความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่
อันที่จริง หากมองให้พ้นจากกรอบของความเชื่อและพิธีกรรม การมีอยู่ของบ้านหัวทุ่งก็เป็นตัวอย่างที่งดงามซึ่งสะท้อนระบบนิเวศที่สมบูรณ์ได้อย่างดียิ่ง การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และการนำมาปรับใช้ให้เข้ากับวิถีชุมชนและการท่องเที่ยว โดยใช้กระบวนการการบริหารจัดการพื้นที่ของชาวชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพ จนเป็นที่มาของรางวัลจากสถาบันต่างๆ มากมายที่บ้านหัวทุ่งได้รับ อาทิ รางวัลหมู่บ้านท่องเที่ยวต้นแบบเชิงนิเวศ จากสำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดเชียงใหม่ รางวัลหมู่บ้านปลอดการเผา ปี 2555 จากกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมและกรมควบคุมมลพิษรางวัลชนะเลิศหมู่บ้านปลอดการเผา "ชุมชนสีเขียว" ระดับจังหวัด เป็นต้น นับตั้งแต่ได้แยกตัวมาจากบ้านทุ่งละครเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2540
บ้านหัวทุ่ง ตั้งอยู่หมู่ที่ 14 ตำบลเชียงดาว อำเภอเชียงดาว หากขับรถออกจากตัวเมือง เข้าสู่ทางแยกถนนสายเลี่ยงเมืองผ่านหมู่บ้านทุ่งละครไปไม่กี่กิโลเมตร ก็จะพบชุมชนต้นน้ำบ้านหัวทุ่งวางตัวอยู่บนที่ราบอันเป็นแนวต่อเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าดอยเชียงดาว ซึ่งเป็นเขตต้นน้ำห้วยแม่ลุ และห้วยละครที่ไหลลงสู่แม่น้ำปิง ทิศตะวันตกมีชายขอบของป่าผืนใหญ่ที่อุดมสมบูรณ์ เรียกว่า "ป่าชุมชนบ้านหัวทุ่ง" ที่ซึ่งนอกจากความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติแล้ว ทุกๆ พื้นที่ในชุมชนยังสามารถมองเห็นดอยเชียงดาวและดอยนางอันสง่างามได้อย่างชัดเจนอีกด้วย
"ป่าสวยน้ำใส สมุนไพรขึ้นชื่อ เรื่องลือข่าวเศรษฐกิจ วิถีชีวิตจักรสาน สมานสามัคคี มีน้ำใจพัฒนา" คือคำขวัญที่สะท้อนภาพชัดของชุมชนที่มีอยู่ด้วยกัน 150 หลังคาเรือน และมีประชากรทั้งหมด 454 คน ที่ซึ่งนอกจากความหลากหลายของชาวบ้าน (ลัวะ ไทลื้อ และคนยอง) ความหลากหลายของพืชพรรณยังโดดเด่นควบคู่ไปกับวิถีชีวิตพื้นถิ่นด้วย ซึ่งได้มีการบริหารจัดการอย่างสอดประสาน จนสามารถสร้างมูลค่าทางความยั่งยืนต่อการดำรงชีวิตของชาวบ้าน รวมทั้งการร่วมกันอนุรักษ์ป่าชุมชน การจัดตั้งกลุ่มสมุนไพรเพื่อการเรียนรู้ โครงการปลูกแฝกเพื่ออนุรักษ์ป่าต้นน้ำ กลุ่มโครงการแก๊สชีวภาพ โครงการปลูกกาแฟ และที่โดดเด่นอย่างยิ่งก็คือโครงการปลูกไผ่เศรษฐกิจ ซึ่งถือว่าที่นี่เป็นชุมชนแห่งแรกที่มีการสานก๋วย (เข่ง) ซึ่งกลายมาเป็นผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นอันโดดเด่นของหมู่บ้าน เป็นหมู่บ้านต้นแบบในการปลูกไผ่โดยชาวบ้านช่วยกันดูแล และเป็นพื้นที่ศึกษาดูงานทั้งจากกลุ่มองค์กร ภาครัฐ และเอกชน ทั้งในและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง
พ่อหลวงสุขเกษม สิงห์คำ ผู้ใหญ่บ้านหัวทุ่ง เล่าให้ฟังว่า ป่าไผ่เกิดขึ้นในสมัยพ่อหลวงติ๊บ ศรีบุญยัง ซึ่งได้ไปขอพื้นที่ของ นพค. (หน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่) 32 กรป.กลาง (กองอำนวยการกลาง รักษาความปลอดภัยแห่งชาติ) ที่เคยได้ใช้เป็นที่เลี้ยงวัวแล้วปล่อยให้รกร้างมาสร้างป่าชุมชน ในขณะเดียวกันด้วยความที่ชาวบ้านในแต่ละครอบครัวส่วนใหญ่มีการสานก๋วย ซึ่งต้องมีการตัดไผ่กันทุกๆ วัน จึงมีความคิดที่จะขยายพื้นที่ปลูกป่าทดแทนโดยขอพื้นที่เพิ่มจาก นพค. อีก 42 ไร่ ทำให้ชาวบ้านหัวทุ่งได้รับประโยชน์จากการตัดไผ่มาสานก๋วย สร้างรายได้ให้ครอบครัว โดยหมุนเวียนทรัพยากรทางธรรมชาติอย่างเป็นระบบ
ระบบการจัดการภายในที่ยั่งยืนยังส่งผลถึงการนำศักยภาพดังกล่าวมาต่อยอดเป็นสินค้าทางการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ซึ่งหากพูดกันในฐานะเชิงเศรษฐกิจร่วมสมัย เราสามารถบอกได้เลยว่าบ้านหัวทุ่ง "กำลังจะมา" เพราะหลังจากได้รับความร่วมมือจากสถาบันการท่องเที่ยวโดยชุมชน (CBT-I) ซึ่งได้วางรากฐานสำหรับการจัดการการท่องเที่ยวอย่างเป็นระบบ โดยชุมชนจะเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าพักในบ้านพักที่จัดไว้ให้ และนำนักท่องเที่ยวศึกษาวิถีชีวิตของชาวบ้าน เที่ยวป่าชุมชน ศึกษาการฟื้นฟูพื้นที่ป่า ศึกษาสมุนไพรและป่าไผ่เศรษฐกิจ โดยจะมีมัคคุเทศก์ชาวบ้านให้การต้อนรับและให้ความรู้อย่างคนในพื้นที่ที่รู้จริง
“ป่ามันคือชีวิต น้ำก็คือชีวิต เราเข้าไปในป่า เราไม่มีเงินสักบาท เราก็ยังได้กินเจ็บป่วยก็มียารักษาเหมือนเป็นซุปเปอร์มาร์เก็ตของคนจน ที่ชาวบ้านหัวทุ่งช่วยกันดูแลป่าก็ไม่ใช่เพื่อเฉพาะชาวบ้านในพื้นที่เท่านั้น แต่อากาศที่บริสุทธิ์ของที่นี่จะลอยไปทั่วทุกที่ ขนาดนักท่องเที่ยวต่างชาติเขายังมาซื้ออากาศของเราเลย” แม่หล้า ศรีบุญยังผู้นำธรรมชาติแห่งบ้านหัวทุ่ง บอกอย่างภาคภูมิใจ
ไม่ใช่เฉพาะแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ภูมิปัญญา หรือการจัดการพื้นที่ภายในชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพเท่านั้น เราคิดว่าจุดเด่นที่สุดที่ทำให้ชุมชนแห่งนี้เติบโตและยั่งยืนได้เช่นทุกวันนี้ คือ "จิตสำนึกและการเสียสละ" ของชาวชุมชนทุกคนที่รักและห่วงแหนพื้นที่บ้านหัวทุ่งอย่างหมดหัวใจ
และนั่น เป็นความสุกสกาวจากภายในที่ใช่ว่าจะหาได้ง่าย...ที่ไหนๆ ก็มี
. . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . .
How to get there
จากเชียงใหม่ ใช้เส้นทาง 107 (เชียงใหม่ – ฝาง) เข้าอำเภอเชียงดาวไปตามทางแยกถนนเลี่ยงเมือง เลี้ยวซ้ายผ่านบ้านทุ่งละครก็จะพบชุมชนบ้านหัวทุ่งตั้งอยู่บริเวณตีนดอยหลวงเชียงดาวกับดอยนาง ทั้งนี้นักท่องเที่ยวสามารถขับรถเข้าชมป่าชุมชนได้ตลอดทั้งปี และยังสามารถขี่จักรยานไปเที่ยวถ้ำเชียงดาว ถ้ำผาปล่อง บ่อน้ำร้อนบ้านยางปูโต๊ะและพระสถูปเมืองงาย ได้อย่างสะดวก
วัฒนธรรมประเพณี
- มีการทำบุญเลี้ยงผีขุนน้ำในเดือนมิถุนายนของทุกปี
- การแสดงพื้นเมืองของเด็กและเยาวชน
- การเก็บของป่าในแต่ละเดือนไม่เหมือนกันตามฤดูกาล
กิจกรรมการท่องเที่ยวในชุมชน
- ดูการจัดการดูแลการรักษาป่าชุมชน (ป่าต้นน้ำ)
- วิถีชีวิตของชาวบ้านหัวทุ่ง
- การปลูกป่าไม้ไผ่เศรษฐกิจเพื่อใช้ในการจักสานเป็นอาชีพเสริม
- ศึกษาภูมิปัญญาเรื่องสมุนไพรในพื้นที่
- การแสดงของเด็กและเยาวชนในหมู่บ้าน
ประวัติศาสตร์ชุมชน : ความเข้าใจคุณค่าและความหมายขอ...

“...ทุกคนในชุมชนล้วนเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ที่กำลังดำเนินต่อไปในอนาคต...” คำกล่าวของ ศาสตราจารย์ ดร. อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ ในเวทีการนำเสนอ “ผลการดำเนินงานโครงการวิจัยประเด็...
อ่านต่อประวัติศาสตร์ชุมชน : ความเข้าใจคุณค่าและความหมายของชุมชนผ่านการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่น
“...ทุกคนในชุมชนล้วนเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ที่กำลังดำเนินต่อไปในอนาคต...”
คำกล่าวของ ศาสตราจารย์ ดร. อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ ในเวทีการนำเสนอ “ผลการดำเนินงานโครงการวิจัยประเด็นการท่องเที่ยวของภาคเหนือตอนล่าง” เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2556 ณ ห้องประชุมเทศบาลเมืองบางขลัง อำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย ที่แสดงให้เห็นว่าประวัติศาสตร์มิใช่ผลผลิตทางความคิดที่สร้างขึ้นจากพื้นที่ศูนย์กลาง แต่เป็นสิ่งที่ชุมชนท้องถิ่นสามารถสร้างขึ้นได้ รวมถึงหาใช่สิ่งที่หลายคนเข้าใจกันว่าประวัติศาสตร์เป็นเรื่องราวของอดีตที่มีจุดเริ่มต้นและมีจุดสิ้นสุด แต่ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเป็นกระบวนการที่ทำให้ชุมชนเข้าใจ “ตัวตน” ของชุมชนทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต
การศึกษาประวัติศาสตร์ชุมชนเป็นกระบวนการหนึ่งที่ชุมชนต่างๆ นำมาใช้เป็นเครื่องมือในการสืบค้นประวัติความเป็นมาของชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งชุมชนที่ปรากฏหลักฐานที่บ่งบอกเรื่องราวความเป็นมาอันยาวนานของพื้นที่ ทั้งที่ปรากฏอยู่ในเอกสารประเภทพงศาวดาร จารึก รวมถึงโบราณวัตถุ โบราณสถานต่างๆ ซึ่งเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ทำให้ทราบประวัติศาสตร์ความเป็นมาของชุมชนย้อนกลับไปได้ไกลหลายยุคหลายสมัย ชุมชนต่างๆ จึงมักให้ความสำคัญกับหลักฐานต่างๆ เหล่านั้นในฐานะเป็นภาพแทนประวัติศาสตร์ของชุมชน
ศาสตราจารย์ ดร.อรรถจักร สัตยานุรักษ์ ได้กล่าวว่า ข้อมูลจากหลักฐานด้านโบราณวัตถุ โบราณสถาน เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการศึกษาประวัติศาสตร์ชุมชนที่มีความสำคัญและไม่อาจละเลยไปได้ อย่างไรก็ตาม การศึกษาประวัติศาสตร์ในลักษณะดังกล่าวเป็นกระบวนการศึกษาที่ให้ความสำคัญเฉพาะหลักฐานประเภท “มรดกทางวัฒนธรรม” (Heritage) ซึ่งเป็นหลักฐานที่มีลักษณะที่หยุดนิ่ง หากศึกษาประวัติศาสตร์จากมรดกทางวัฒนธรรมเพียงมิติเดียวย่อมทำให้ขาดความเข้าใจความเคลื่อนไหวและความเชื่อมโยงของสังคมหรือชุมชนในแต่ละช่วงเวลา ดังที่ศาสตราจารย์ ดร.อรรถจักร์ได้ยกตัวอย่างถึงชุมชนบางขลังที่มีหลักฐานกล่าวถึงการเป็น “จุดกำเนิดประเทศไทย” ตามหลักฐานที่ปรากฏในศิลาจารึก หลักที่ 2 (จารึกวัดศรีชุม)1 ที่กล่าวว่าพ่อขุนบางกลางหาวและพ่อขุนผาเมืองรวมพลกันที่เมืองบางขลังก่อนที่จะเข้าตีเมืองสุโขทัยคืนมาจากขอมสบาดโขลญลำพง จากนั้นจึงสถาปนาพ่อขุนบางกลางหาวเป็นพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ ปฐมกษัตริย์แห่งกรุงสุโขทัย นอกจากนั้นภายในเมืองบางขลังยังปรากฏโบราณสถานที่ได้รับอิทธิพลด้านรูปแบบจากศิลปะขอมมีอายุเก่าแก่ถึงสมัยต้นกรุงสุโขทัย แต่หากศึกษาความเป็นมาในการตั้งถิ่นฐานของชุมชนบางขลังในปัจจุบันจะพบว่าชุมชนบางขลังในปัจจุบันเริ่มมีการก่อตั้งในสมัยรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์เท่านั้น ซึ่งหากชุมชนนำข้อมูลด้านมรดกวัฒนธรรมที่ปรากฏในช่วงดังกล่าวมาเป็นภาพแทนประวัติศาสตร์ของชุมชนในปัจจุบัน ย่อมทำให้ไม่เห็นภาพความต่อเนื่องของผู้คนจากอดีตมาสู่ปัจจุบัน นำมาสู่การรับรู้ประวัติศาสตร์ของชุมชนที่ไม่ถูกต้องนัก
การศึกษาประวัติศาสตร์ชุมชนจึงไม่อาจละเลยมุมมองเกี่ยวกับ “คน” ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่สะท้อนให้เห็นพลวัตรและกระบวนการเปลี่ยนแปลงจากภายในชุมชนอันเป็นหัวใจของการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นไปได้
การศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเป็นแนวคิดที่ไม่มองชุมชนท้องถิ่นผ่านศูนย์กลาง โดยมองประวัติศาสตร์จากเบื้องล่างผ่านข้อมูลท้องถิ่นที่มีลักษณะชาวบ้าน ลักษณะพื้นบ้าน พื้นเมืองเป็นหลัก ด้วยเหตุนี้ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นจึงเป็นประวัติศาสตร์ที่มีชีวิต (living history) มีความเคลื่อนไหวอยู่เสมอ เพราะข้อมูลที่นำมาศึกษานั้นมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาตามการรับรู้และเปลี่ยนแปลงของสังคม2 โดยหากมองประวัติศาสตร์ในมิติความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนมากขึ้น ยิ่งจะทำให้เข้าใจ “ตัวตน” ของชุมชนในหลากหลายมิติขึ้นด้วย
ศาสตราจารย์ ดร. อรรถจักร์ ยังได้เสนอแนวทางในการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นอีกว่า คนในชุมชนอาจสืบค้นประวัติศาสตร์ของชุมชนได้จาก “ความทรงจำร่วมของสังคม” (Collective memory) ซึ่งเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในชุมชนจากความทรงจำของผู้คนในแต่ละช่วงวัย โดยเฉพาะการมองเหตุการณ์ต่างๆ ผ่านการปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนกับสรรพสิ่งซึ่งจะทำให้ชุมชนเข้าใจว่าสิ่งใดเป็นความสำเร็จและความล้มเหลวในอดีตที่ผ่านมา สาเหตุของความสำเร็จและความล้มเหลวเหล่านั้นมีอะไรบ้าง ทิศทางที่สังคมดำเนินมาตั้งแต่อดีตนั้นเป็นทิศทางที่เหมาะสมแล้วหรือไม่ เพียงใด และเป้าหมายที่สังคมกำลังดำเนินไปสู่คืออะไร จะบรรลุเป้าดังกล่าวได้อย่างไร คำถามเหล่านั้นจะนำไปสู่การสร้างตัวตนของคนในสังคมให้รู้ว่าตนเองมีความสัมพันธ์กับคนอื่นๆ ในสังคมในฐานะใด และสถานะที่ตนดำรงอยู่นั้นจะทำให้ตนเองมีความหมายได้อย่างไร “ประวัติศาสตร์” จึงเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้เกิดการเรียนรู้และความเข้าใจ “ตัวตน” ของชุมชนตั้งแต่อดีต และทำให้เข้าใจการก่อรูปลักษณ์ของสังคมในปัจจุบัน3
ไม่เพียงเท่านั้น ความเข้าใจ “ตัวตน” ของชุมชนตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน ยังทำให้ชุมชนสามารถสร้างแนวทางในการปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์ทั้งภายในชุมชนเองรวมถึงจากภายนอก แสวงหาลู่ทางที่จะสร้าง “ความทรงจำใหม่” หรือปรับเปลี่ยน “ความทรงจำเดิม” เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์เชิงอำนาจในอนาคตโดยเกิดจากกระบวนการสร้างสำนึกทางประวัติศาสตร์แบบ “ชุมชน” เป็นพื้นฐาน อันเป็นความสำนึกที่ทำให้แต่ละคนสามารถวางตนเองอยู่ในความเป็น “ชุมชน” ที่จะร่วมกันเผชิญกับกระแสความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้อย่างมีพลัง4
การศึกษาชุมชนผ่านกระบวนการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นจึงเป็นการศึกษาเพื่อความเข้าใจคุณค่าและความหมายตัวตนของชุมชน และเมื่อพิจารณาผ่านมุมมองด้านการท่องเที่ยว หากชุมชนเข้าใจคุณค่าและความหมายตัวตนของชุมชนแล้ว ย่อมทำให้ชุมชนสามารถนำทรัพยากรต่างๆ มาใช้เป็นต้นทุนเพื่อการท่องเที่ยวได้อย่างเหมาะสม ผ่านสำนึกร่วมของความเป็นชุมชนที่ตระหนักว่าทรัพยากรเหล่านั้นเป็นสิ่งที่มีความหมายและคุณค่าต่อวิถีชีวิตของผู้คน มากกว่าเป็นสิ่งของแลกเปลี่ยนกับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะทรัพยากรวัฒนธรรมที่เป็นส่วนหนึ่งของวิถีการดำเนินชีวิตของผู้คน แต่ที่ผ่านมาเรากลับพบเห็นการเปลี่ยนวัฒนธรรมให้กลายเป็นเพียงสินค้าเพื่อเงินเพียงเล็กน้อยจากนักท่องเที่ยวกันอย่างดาษดื่น ซึ่งไม่เพียงแต่ทำให้วัฒนธรรมถูกลดทอนคุณค่าลงไปเท่านั้น
...ยังทำให้คุณค่าของ “คน” ซึ่งเป็นเจ้าของวัฒนธรรมเหล่านั้น ถูกลดทอนตามไปด้วย...
อนุวัตร อินทนา
สถาบันการท่องเที่ยวโดยชุมชน
---------------------------
1 สำนักนายกรัฐมนตรี, ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 1 (กรุงเทพฯ: คณะกรรมการพิจารณาและจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์, 2521), 37-38.
2 ธิดา สาระยา, ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น: ประวัติศาสตร์ที่สัมพันธ์กับสังคมมนุษย์, พิมพ์ครั้งที่ 2 (กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ, 2539), 66-67.
3 อรรถจักร สัตยานุรักษ์, ประวัติศาสตร์เพื่อชุมชน: ทิศทางใหม่ของการศึกษาประวัติศาสตร์ (กรุงเทพฯ: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.), 2548), 7-8.
4 เรื่องเดียวกัน, 36.